ความหมายของอารยธรรม (Civilization)
อารยธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมขั้นสูง หรือความเจริญด้านวัฒนธรรมในลักษณะของสังคมเมือง คำว่า Civilization มีรากศัพท์มาจากคำว่า Civitas ในภาษาละติน มีความหมายว่า “เมืองใหญ่” หรือ “นคร” ดังนั้น สังคมที่มาอารยธรรมจึงหมายถึงสังคมที่มีความเจริญก้าวหน้าแบบสังคมเมือง เป็นความเจริญรุ่งเรืิองที่มีการประสานความร่วมมือระหว่างสมาชิกในสังคม สังคมเมืองมีโครงสร้างของสังคมที่เป็นระบบ และมีสมาชิกที่มีความสามารถและความชำนาญพิเศษในการคิดประดิษฐ์ ตลอดจนสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่สังคมอยู่เสมอ
อารยธรรมไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้โดยอัตโนมัติ หากแต่เป็นพัฒนาการความเจริญที่มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมต่างๆ อารยธรรมสำคัญของมนุษย์ เช่น การประดิษฐ์ตัวอักษรเพื่อใช้บันทึกเหตุการณ์และสื่อสารความรู้สึกนึกคิดจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคม ถ้าหากมนุษย์ในสังคมนั้นปราศจากภาษาที่ใช้สื่อสารกันภายในกลุ่มของตน เช่นเดียวกับความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการแพทย์แผนปัจจุบันที่สามรถเอาชนะโรคร้ายต่างๆ และชะลอความตายของมนุษย์ด้วยวิธีการปลูกถ่ายอวัยวะ ก็เป็นพัฒนาการของการบำบัดรักษาโรคของแพทย์แผนโบราณซึ่งมีมาตั้งแต่อดีตในทุกสังคม อนึ่ง รถไฟที่สามารถบรรทุกคนและสิ่งของได้เป็นจำนวนมาก ก็เป็นวิวัฒนาการของระบบขนส่งมวลชนที่มีรากฐานมาจากระบบขนส่งดั้งเดิมที่ใช้เกวียนหรือรถม้านั่นเอง
อารยธรรมของแต่ละกลุ่มชนอาจพัฒนาจากวัฒนธรรมที่มีอยู่ภายในสังคมของตนได้โดยอิสระ หรือเกิดจากการยืมและดัดแปลงอารยธรรมของสังคมอื่น เช่น ชาวสุเมเรียน ซึ่งเป็นชนชาติที่มีความเจริญรุ่นแรกในเมโสโปเตเมีย สามารถพัฒนาวัฒนธรรมขั้นสูงขึ้นภายในสังคมของตนเองได้ พวกเขาคิดประดิษฐ์ระบบชั่ง ตวง วัด การทำปฏิทิน ฯลฯ ซึ่งเป็นรากฐานของอารยธรรมตะวันตก ส่วนอารยธรรมไทยด้านปรัชญา ศาสนา กฎหมายและการปกครองนั้นเป็นพัฒนาการที่มีรากฐานมาจากอารยธรรมอินเดีย อนึ่ง ตัวอักษรในภาษาญี่ปุ่นก็เป็นการผสมผสานระหว่างอารยธรรมจีนและอารยธรรมของญี่ปุ่นเอง เนื่องจากตัวอักษรญี่ปุ่นประกอบด้วยตัวอักษรจีนที่ญี่ปุ่นรับเอาไปใช้และตัวอักษรที่ชาวญี่ปุ่นคิดประดิษฐ์ขึ้นมาเองภายหลัง
ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดอารยธรรม
อารยธรรมซึ่งเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของโลกอาจมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันหรือแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญต่อไปนี้
1.สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์
สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ประกอบด้วยที่ตั้ง ภูมิอากาศ และความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษย์ในดินแดนต่างๆ ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญได้แก่ ลักษณะที่ตั้ง สภาพภูมิอากาศ และทรัพยากรธรรมชาติ
ชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ จะมีโอกาสใช้ทรัพยากรน้ำในการบริโภค เพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ จึงดึงดูดผู้คนจากแหล่งต่างๆ ให้เข้ามาพำนักอาศัย และสามารถขยายตัวเป็นสังคมเมืองได้ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ชุมชนที่อยู่ริมน้ำยังสามารถใช้แม่น้ำเป็นเส้นทางคมนาคม เพื่อติดต่อกับโลกภายนอก และเพื่อค้าขายหรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ทำให้เกิดการพัฒนาความเจริญในด้านต่างๆ เช่น ระบบการค้า การปกครอง กฎหมาย การก่อสร้าง วรรณกรรม ฯลฯ จะเห็นได้ว่าแหล่งอารยธรรมแรกเริ่มของโลก 4 แห่งล้วนเกิดขึ้นในลุ่มแม่น้ำทั้งสิ้น ได้แก่ อารยธรรมเมโสโปเตเมียซึ่งอยู่ระหว่างลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรทีส อารยธรรมอียิปต์ในลุ่มแม่น้ำไนล์ อารยธรรมจีนในลุ่มแม่น้ำหวงเหอ และอารยธรรมอินเดียซึ่งถือกำเนิดในลุ่มแม่น้ำสินธุ นอกจากนี้แล้ว ดินแดนที่ตั้งอยู่ในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลอาหรับ อ่าวเปอร์เซีย ทะเลจีนใต้ ฯลฯ ก็สามารถพัฒนาเป็นเมืองท่าติดต่อกับโลกภายนอกได้ตั้งแต่สมัยโบราณ ทำให้มีโอกาสรับและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากดินแดนอื่นที่เจริญรุ่งเรือง และนำความเจริญนั้นๆ มาพัฒนาบ้านเมืองของตนให้เจริญก้าวหน้า
อนึ่ง ลักษณะทางภูมิอากาศที่เหมาะสม ไม่ร้อนจัดหรือหนาวจัดจนเกินไป ก็ส่งเสริมให้มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น เช่นเดียวกับพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ จะดึงดูดให้มีการตั้งถิ่นฐาน กระทั่งชุมชนนั้นขยายตัวเป็นเมือง
ทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐาน ตั้งแต่อดีตมนุษย์อาศัยทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิตและประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พื้นที่ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์จึงดึงดูดให้มีการตั้งถิ่นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ และแร่ธาตุ
2.ความก้าวหน้าในการคิดค้นเทคโนโลยี
การขยายชุมชนเป็นสังคมใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาในการจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอสำหรับสมาชิกในชุมชนนั้นๆ ดังนั้นผู้นำของสังคมนั้นๆ จึงจำเป็นต้องประดิษฐ์และค้นหาวิธีการต่างๆ เช่น การคิดค้นระบบชลประทานเพื่อทดน้ำเข้าไปในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากริมฝั่งแม่น้ำ เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก หรือการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ตลอดจนการสร้างประตูระบายน้ำและทำนบกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก เทคโนโลยีเหล่านี้นับว่าเป็นความเจริญขั้นสูงที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่อาณาจักรสมัยโบราณ เช่น อียิปต์ เมโสโปเตเมีย และจีน
นอกจากนี้แล้ว เครื่องทุ่นแรงและเครื่องมือเครื่องใช้ที่มนุษย์ในดินแดนต่างๆ คิดประดิษฐ์ขึ้นมาก็เป็นรากฐานของอารยธรรมด้วย เป็นต้นว่า ความสามารถในการคำนวณและการประดิษฐ์เครื่องทุ่นแรงทำให้เกิดสถาปัตยกรรมสำคัญของโลก เช่น พีระมิดในอียิปต์ กำแพงเมืองจีน และปราสาทหินนครวัดของพวกเขมรโบราณในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน
3.ความคิดในการจัดระเบียบสังคม
การอยู่ร่วมกันในสังคมขนาดใหญ่ จำเป็นต้องมีการสร้างกฎเกณฑ์ และระเบียบต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ไม่เบียดเบียน หรือข่มเหงรังแกซึ่งกันและกัน แต่ละสังคมจึงมีการจัดโครงสร้างการปกครอง มีผู้ปกครองซึ่งมีสถานะที่แตกต่างกันตามลักษณะและขนาดของสังคมนั้นๆ เช่น แคว้น รัฐ หรืออาณาจักร และมีผู้อยู่ใต้การปกครอง ซึ่งอาจจำแนกตามอาชีพและฐานะ เช่น พระ ข้าราชการ พ่อค้า แพทย์ กรรมกร ชาวนาน และทาส โดยมีการตรากฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกครอง นอกจากนี้ การยอมรับสถานะที่สูงส่งของผู้ปกครอง เช่น ชาวอียิปต์เชื่อว่ากษัตริย์หรือฟาโรห์ของตนเป็นเทพเจ้า และชาวจีนเชื่อว่าจักรพรรดิของตนเป็นโอรสแห่งสวรรค์ก็ทำให้ผู้นำประเทศมีอำนาจจัดการปกครองให้ประชาชนอยู่ร่วมกันภายใต้กฎระเบียบอย่างสันติสุขได้
อนึ่ง เพื่อให้ดินแดนหรือแว่นแคว้นของตนจริญก้าวหน้า ผู้ปกครองดินแดนนั้นยังได้สร้างระบบเศรษฐกิจให้มั่นคง เช่น พวกสุเมเรียนในเมโสโปเตเมียได้คิดค้น จัดเก็ยภาษี รวมทั้งมาตราชั่ง ตวง วัด เพื่อให้การแลกเปลี่ยนสินค้าในอาณาจักรของตนดำเนินไปได้โดยราบรื่น มาตราชั่ง ตวง วัด เป็นเครื่องมือสำคัญของระบบการค้า ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้ผู้คนในดินแดนต่างๆ ได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้วัฒนธรรมของชนชาติอื่นๆ จนกระทั่งสามารถนำไปพัฒนาให้เกิดอารยธรรมขึ้นได้ในเวลาต่อมา
ความเจริญรุ่งเรืองที่กลายเป็นวัฒนธรรมขั้นสูงหรืออารยธรรมนั้น เกิดขึ้นได้ด้วยความสามารถของมนุษย์ที่คิดค้นระบบและกลไลในการเอาชนะธรรมชาติ หรือใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ดินแดนที่มีอารยธรรมรุ่งงเรืองจึงเจริญก้าวหน้า สามารถขยายอาณาเขตและอำนาจออกไปอย่างกว้างขวาง กลายเป็นอาณาจักรหรือจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ เช่น อาณาจักรอียิปต์ อาณาจักรเมโสโปเตเมีย จักรวรรดิจีน จัักรวรรดิอินเดียในสมัยราชวงศ์โมกุล จักรวรรดิโรมัน อาณาจักรขอม จักรวรรดิอังกฤษ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม อารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองของดินแดนต่างๆ นั้น บางส่วนได้สาบสูญไป เช่น ตำราและวิชาการบางอย่าง ส่วนที่ยังคงดำรงอยู่ก็เป็นมรดกสืบทอดต่อมาทั้งในดินแดนของตนหรือในดินแดนอื่นๆ ที่นำไปถ่ายทอด ทำให้ความเจริญเหล่านั้นสามารถดำรงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กฎหมาย ศาสนา ภาษา ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ดนตรี ฯลฯ ดังนั้นการศึกษาเรื่องราวของอารยธรรมมนุษย์ตั้งแต่ยุคเริ่มแรก จึงเป็นการศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงความเจริญของมนุษยชาติที่มีมาตั้งแต่อดีต และกลายเป็นรากฐานความเจริญของมนุษย์ในสังคมปัจจุบัน เ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น